การตีพิมพ์และการตอบรับ ของ ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากปี 1844

ต้นฉบับฯ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกที่มอสโกใน ค.ศ. 1932 เป็นส่วนหนึ่งของฉบับมาคส์-เอ็งเงิลส์-เกอซัมท์เอาส์กาเบอ (Marx-Engels-Gesamtausgabe)[85] มีดาวิด เรียซานอฟ เป็นบรรณาธิการ เจิร์จ ลุกาช (György Lukács) ได้ทำงานถอดความงานชิ้นนี้ภายใต้ความดูแลของเขา ซึ่งต่อมาลุกาชกล่าวว่าประสบการณ์ครั้งนี้ได้เปลี่ยนการตีความลัทธิมากซ์ของเขาไปอย่างถาวร[86] หลังถูกตีพิมพ์ออกมา แฮร์เบิร์ท มาร์คูเซอ (Herbert Marcuse) และอ็องรี เลอแฟฟวร์ ได้ให้ความยอมรับในความสำคัญของงานชิ้นนี้ มาร์คูเซอกล่าวว่าต้นฉบับฯ แสดงให้เห็นถึงรากฐานทางปรัชญาของลัทธิมากซ์ โดยเป็นการวาง "ทฤษฎี 'สังคมนิยมวิทยาศาสตร์' ทั้งหมดอยู่บนฐานรากใหม่"[87] เลอแฟฟวร์และนอร์เบิร์ท กูเทอร์มัน (Norbert Guterman) เป็นคนแรก ๆ ที่แปลต้นฉบับฯ เป็นภาษาต่างชาติ โดยได้ตีพิมพ์ฉบับภาษาฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1933[88] งานเขียนของเลอแฟฟวร์ Le matérialisme dialectique ซึ่งเขียนขึ้นใน ค.ศ. 1934–1935 เป็นการรุดหน้าการประกอบเนื้องานของมาคส์ทั้งหมดขึ้นใหม่โดยพิจารณาถึงงานต้นฉบับฯ ด้วย[89] แม้ว่าจะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่สำเนาของต้นฉบับฯ ฉบับนี้ต่อมากลายเป็นงานที่หายาก เพราะโครงการมาคส์-เอ็งเงิลส์-เกอซัมท์เอาส์กาเบอถูกยกเลิกไปในเวลาไม่นานหลังจากนั้น[85]

งานชิ้นนี้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยปรากฏฉบับมาตรฐานในภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 1956 และภาษาฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1962[85] ในช่วงเวลาเดียวกัน ต้นฉบับฯ ถูกแปลและพูดถึงในภาษาอิตาลีเป็นครั้งแรกโดยกัลวาโน เดลลา วอลเป (Galvano Della Volpe) ซึ่งเสนอการตีความที่ต่างไปจากของลุกาช มาร์คูเซอ หรือเลอแฟฟวร์อย่างมาก และได้ให้กำเนิดสำนักคิดของตัวเองขึ้นมา[89] นักเขียนคาทอลิกหลายคน โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส ให้ความสนใจกับต้นฉบับในช่วงเวลาเดียวกัน[16] ลัทธิมากซ์อัตถิภาวะ (existential Marxism) ของมอริส แมร์โล-ปงตี (Maurice Merleau-Ponty) และฌ็อง-ปอล ซาทร์ ก็ได้ดึงเอามาจากงานต้นฉบับฯ อย่างมาก[89] ในสหรัฐ ต้นฉบับฯ ได้รับการยอมรับอย่างมากในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 และช่วงต้น 1960 จากกระแสปัญญาชนที่เรียกว่าฝ่ายซ้ายใหม่ (New Left)[90] ประกอบกับการตีพิมพ์ฉบับซึ่งมีคำนำโดยเอริช ฟร็อม (Marx's Concept of Man) ออกมาใน ค.ศ. 1961[91]

เพราะคำว่าความแปลกแยกไม่มีปรากฏอยู่ในรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ ในผลงานชิ้นเอกของมาคส์ Das Kapital การตีพิมพ์ของต้นฉบับฯ ได้ก่อให้เกิดการโต้เถียงอย่างมากถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "มาคส์วัยเยาว์" (Young Marx) กับ "มาคส์วัยผู้ใหญ่"[92] ต้นฉบับฯ เป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญของแนวคิด "มนุษยนิยมแนวมากซ์" (Marxist humanism)[1] ซึ่งมองว่ามนุษยนิยมเชิงปรัชญาแบบเฮเกิลมีความต่อเนื่องกันกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ในภายหลังของมาคส์[93] แต่ในทางตรงกันข้าม สหภาพโซเวียตโดยส่วนมากเมินเฉยต่อต้นฉบับฯ เพราะเชื่อว่าเป็น "งานเขียนเริ่มแรก" ของมาคส์ซึ่งแสดงถึงแนวความคิดที่ไม่ได้นำให้เขาไปยังจุดใดเลย[4] ลัทธิมากซ์เชิงโครงสร้าง (structural Marxism) ของหลุยส์ อาลตูว์แซร์ (Louis Althusser) รับเอาคำตัดสินงานเขียนเริ่มแรกของมาคส์จากสหภาพโซเวียตมา[94] อาลตูว์แซร์เชื่อว่ามี "รอยแยก" อยู่ในช่วงพัฒนาการของมาคส์[1] โดยเป็นรอยแยกที่แบ่งความคิดของมาคส์ออกเป็นยุคสมัยเชิง "อุดมการณ์" ก่อน ค.ศ. 1845 กับยุคสมัยเชิงวิทยาศาสตร์หลังจากนั้น[95] บุคคลอื่น ๆ ซึ่งสันนิษฐานรอยแยกนี้เช่นกันสรรเสริญงานต้นฉบับฯ และเชื่อว่ามาคส์วัยเยาว์คือมาคส์ตัวจริง[96] นักเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์แอร์เน็สท์ มันเด็ล (Ernest Mandel) แบ่งทั้งสามสำนักคิดนี้ออกจากกันโดยพิจารณาถึงข้อขัดแย้งนี้:[97]

(1) จุดยืนของผู้ที่พยายามปฏิเสธว่า ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญา กับ ทุน ไม่มีความแตกต่างกันเลย และมองว่าพื้นฐานของนิพนธ์ใน ทุน มีอยู่ใน ต้นฉบับฯ อยู่แล้ว

(2) จุดยืนของผู้ที่มองว่ามาคส์ใน ต้นฉบับฯ เมื่อเทียบกับมาคส์ใน ทุน ได้แสดงปัญหาของแรงงานแปลกแยกในรูปแบบที่ "สมบูรณ์" และ "ครบถ้วน" มากกว่า โดยเฉพาะผ่านการแสดงมิติทางจริยศาสตร์ มานุษยวิทยา และแม้แต่ทางปรัชญาของมโนทัศน์นี้ คนกลุ่มนี้แยกมาคส์ทั้งสองคนออกจากกันหรือไม่อย่างนั้น ทุน ก็จะถูก "ประเมินใหม่" โดยพิจารณา ต้นฉบับฯ ร่วมด้วย

(3) จุดยืนของผู้ที่มองว่าแนวความคิดว่าด้วยแรงงานแปลกแยกของมาคส์วัยเยาว์ใน ต้นฉบับฯ ไม่ได้เพียงขัดแย้งกับการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของ ทุน เท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้มาคส์วัยเยาว์ยอมรับทฤษฎีมูลค่าแรงงานได้อย่างยากลำบาก สำหรับตัวแทนสุดโต่งในสำนักนี้ แนวคิดเรื่องความแปลกแยกเป็นแนวคิด "ก่อนลัทธิมากซ์" ที่มาคส์จำต้องก้าวข้ามเสียก่อนจะมาถึงการวิเคราะห์เศรษฐกิจทุนนิยมแบบวิทยาศาสตร์ได้

— แอร์เน็สท์ มันเด็ล, The Formation of the Economic Thought of Karl Marx, p. 164

แหล่งที่มา

WikiPedia: ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากปี 1844 http://www.marxists.org/archive/marx/works/1844/ma... //openlibrary.org/books/OL20663426M //openlibrary.org/books/OL5548413M //openlibrary.org/books/OL7910951M http://www.zeno.org/Philosophie/M/Marx,+Karl/%C3%9... https://www.jacobinmag.com/2018/05/marx-humanism-e... https://www.radicalphilosophy.com/article/hegel-fe... https://www.radicalphilosophy.com/article/objectif... https://chrisarthur.net/dialectics-of-labour-marx-... https://chrisarthur.net/dialectics-of-labour-marx-...